ธนาคารสามารถกำหนดวงเงินค้ำประกันต่ำกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้ได้หรือไม่?
ได้ และหากมีวงเงินสินเชื่อที่จะให้ค้ำประกันหลายวงเงิน ธนาคารสามารถกำหนดวงเงินค้ำประกันในแต่ละวงเงินตามความต้องการของธนาคารได้ (ไม่ จำเป็นต้องเป็นสัดส่วนเดียวกัน)
หากธนาคารมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงประเภทสินเชื่อที่ บสย.ให้การค้ำประกัน เป็นสินเชื่อประเภทอื่น และขอให้ บสย.ค้ำประกันในสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลงใหม่แทนสินเชื่อเดิมได้หรือไม่
ต้องขอความยินยอมจาก บสย. เป็นกรณีๆ ไป ก่อนดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) แบบใดก็ตาม
ภายหลังได้รับการค้ำประกันจาก บสย. ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่ม โดยถือจำนองเดิม จะต้องดำเนินการอย่างไร
หากเป็นการค้ำประกันแบบ RP (Risk Participation) ธนาคารสามารถดำเนินการ และแจ้งให้ บสย. เพื่อทราบในภายหลังได้ เนื่องจาก บสย.จะรับผิดตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว และหากเป็นการค้ำประกันแบบปกติ หรือ MOU ธนาคารจะต้องขอความยินยอมจาก บสย. ก่อนดำเนินการ
ภายหลังที่ บสย. ให้การค้ำประกัน หากธนาคารจะดำเนินการไถ่ถอนหลักประกันบางส่วนจะต้องดำเนินการอย่างไร
การที่ธนาคารจะอนุญาตให้ผู้ขอกู้ไถ่ถอนหลักประกันบางส่วนในโครงการนั้นสามารถกระทำได้ แต่หลักประกันที่ขอไถ่ถอนออกไปจะต้องไม่เป็นที่ตั้งของ สถานประกอบการ (เช่น สำนักงาน ร้านค้า โรงงาน โกดัง เป็นต้น) และใช้เป็นสถานประกอบการหลักที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของลูกค้า หากเป็นการค้ำประกันภายใต้โครงการ RP ธนาคารสามารถให้การไถ่ถอนได้ตามหลักเกณฑ์ คือจะต้องรับชำระหนี้คืนไม่ต่ำกว่าราคาประเมินปัจจุบัน หากเป็นการค้ำประกันภายใต้โครงการปกติ หรือ MOU ธนาคารจะต้องขอความยินยอมจาก บสย. ก่อนดำเนินการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ควรจะชำระหนี้คืนไม่ต่ำกว่ามูลค่าที่คิดเป็นหลักประกัน ของหลักประกันที่ไถ่ถอน
ธนาคารสามารถลดวงเงินค้ำประกันในปีต่อ ๆ ไปได้หรือไม่
ได้ สำหรับในการต่ออายุปีถัดไป บสย. จะแจ้งให้ธนาคารทราบล่วงหน้า 2 เดือน เพื่อให้ธนาคารแจ้งวงเงินที่ต้องการจะต่ออายุกลับมายัง บสย. ดังนั้นหาก ธนาคารมีความประสงค์จะลดวงเงินก็สามารถแจ้งวงเงินที่จะให้ บสย. ค้ำประกัน(ที่ลดลงแล้ว) ในขั้นตอนนี้ได้ และชำระค่าธรรมเนียมตามวงเงินค้ำประกันที่ลดลงแล้ว
ธนาคารจะขอให้ต่ออายุการค้ำประกันแบบไม่เต็มปีได้หรือไม่
ไม่ได้
หากธนาคารจะขอยกเลิกการค้ำประกันของ บสย. ทำได้หรือไม่ และจะต้องทำอย่างไร
สามารถทำได้ โดยให้ธนาคารทำหนังสือแจ้ง พร้อมส่งคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกัน มายัง บสย. ส่วนการคืนค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามประกาศ บสย. ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เรื่องหลักเกณฑ์การคืนค่าธรรมเนียมกรณียกเลิกการค้ำประกัน
หากมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า ธนาคารจะต้องดำเนินการอย่างไร
กรณีเป็นโครงการ PGS ไม่ต้องแจ้ง บสย. แต่หากเป็นโครงการ RP, ปกติ, MOU, NPL ธนาคารต้องขอความยินยอมจาก บสย. ก่อนดำเนินการ
กรณีที่ธนาคารได้ทำต้นฉบับหนังสือค้ำประกันสูญหายจะต้องดำเนินการอย่างไร
ขอให้ธนาคารมีหนังสือถึง บสย. พร้อมต้นฉบับใบแจ้งความ และค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อฉบับ โดย บสย.จะรับรองสำเนาหนังสือค้ำประกัน เพื่อให้ ธนาคารไว้ใช้แทนต้นฉบับต่อไป